สวัสดีค่ะ ชื่อหยองนะคะ ตอนนี้อายุ 28 ปีแต่ตอนที่ไปร่วมโครงการอาสาสมัครระยะยาวตอนนู่นก็อายุราวๆ 24 ปีได้ J

หยองเข้าร่วมโครงการกับทางองค์กรที่ชื่อว่า Citrus เป็นองค์กรอาสาสมัครที่อยู่ทางใต้ของฝรั่งเศส สำหรับโครงการที่หยองเข้าร่วมนั้นชื่อว่า Service Civique เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลฝรั่งเศส

นี่เป็นครั้งแรกเลยที่ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตในต่างประเทศนาน 1 ปี ในช่วงก่อนจะไปก็ทั้งเครียดทั้งกังวลว่าจะอยู่ได้ไหม แต่พอไปถึงแล้วรู้สึกอุ่นใจขึ้นมาหน่อย เพราะว่าได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากทั้งเจ้าหน้าที่และเพื่อนอาสาสมัครด้วยกันเอง

ในส่วนของการทำงานนั้น หลักๆ เราจะทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัครกับกลุ่มคนที่มีความท้าทายในการหางาน งานของเราส่วนมาจะทำที่สถานีรถไฟ มีทั้งขัดที่นั่ง ซ่อมกล่องจอดจักรยาน กับทั้งทาสี นอกจากงานนี้แล้วพวกเรายังต้อนรับกลุ่มต่างๆ ที่มาทำงานร่วมกันอีกด้วย งานที่ท้าทายมากๆ คือการทำอาหารสำหรับคนจำนวนมาก เพราะทั้งเครียด ทั้งกดดันที่จะต้องทำอาหารให้ทันเวลา แต่ก็สนุกดีๆ ได้ลองเมนูใหม่ๆ ในทุกๆ วัน ในช่วงก่อนที่เราจะจบโปรเจ็ค เรายังได้ลองมาเป็นผู้นำค่ายอีกด้วย ค่ายนี้เป็นค่ายวัยรุ่น สำหรับค่ายนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะอดทนและยืดหยุ่นในแต่ละสถานการณ์ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เรายังได้ร่วมกับชุมนุมที่ชื่อว่า “Bouge Ta Bogue” หรือที่หมายความว่า “ออกมาจากกรอบ” เป็นชุมนุมที่ทำงานร่วมกับกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน งานส่วนใหญ่จะมีทั้งทริปออกนอกสถานที่ และกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆ

ในส่วนของการใช้ชีวิตนั้น อาสาสมัครทุกคนอยู่รวมกันที่บ้านอาสาสมัคร แบ่งออกเป็น 3 ห้องนอน (ห้องนอนผู้หญิง ห้องนอนผู้ชาย และห้องนอนแขก) บอกตรงๆ ไม่ง่ายเลยที่จะใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเป็นเวลา 1 ปี ทุกวันศุกร์จะมี Mentor หรือพี่เลี้ยงเข้ามาจัดประชุมคอยเคลียร์ปัญหา หรือช่วยจัดการวางแผนชีวิตในอาทิตย์ต่อๆ ไปให้ ปัญหาที่เจอประจำเป็นเรื่องเล็กมากๆ แต่เป็นปัญหาที่เอามาขึ้นที่ประชุมทุกครั้ง นั่นคือเรื่องล้างจาน 1 ปีผ่านไม่ง่ายเลย แต่สุดท้ายเรากลับได้เพื่อนดีๆ ที่รู้จักนิสัยใจคอจริงๆ มาตั้งหลายคน ประสบการณ์หลังจาก 1 ปีนั้น ทำให้เราโตขึ้น (แน่นอนไม่ได้สูงขึ้นนะ หมายถึงโตขึ้นทางการเรียนรู้ 55) เราได้เรียนรู้ที่จะเปิดใจรับคนแปลกหน้าเข้ามาในชีวิต รู้จักปรับตัวและประนีประนอมเมื่อมีเหตุการณ์ยากๆ เข้ามา อีกทั้งมีความมั่นใจมากขึ้นและกล้าที่จะตัดสินใจในเวลาที่จำเป็นอีกด้วย การเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้ทำให้เราเรียนรู้จากคนรอบข้างและรู้จักตัวเองให้มากขึ้น J

ชุมชนเกาะนางคำ

กิจกรรมกับเด็ก, สิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้ร่วมกับคนในชุมชน
รหัสโครงการ: DaLaa 1702 MTV
รูปแบบค่าย: ค่ายระยะกลาง (2-6เดือน)
จำนวนอาสาสมัครไทยที่เปิดรับ ; เปิดรับทั้งปี (ยกเว้นเดือนมีนาคม-เมษายน)

ประวัติโครงการ
โครงการค่ายอาสาสมัครระยะกลาง โรงเรียนบ้านเกาะนางคำ เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน คนในพื้นที่ และอาสาสมัครนานาชาติ ได้ร่วมเรียนรู้ทักษะการสื่อสารทางด้านภาษา (นานาชาติ) รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น การประกอบอาชีพของคนในชุมชน แก่อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการตระหนักถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน ในชุมชน สามารถเรียนรู้ ทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ผ่านการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครนานาชาติ อาสาสมัครไทย และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันเปิดโลกทัศน์ แห่งการเรียนรู้ เพราะเราเชื่อว่า การศึกษาคือหน้าต่างของการเปิดโลกกว้าง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด การหันกลับมาศึกษาภูมิปัญญาที่มีอยู่คู่ชุมชน การสร้างแรงบันดาลใจและการใฝ่รู้ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความหลากหลายและความเข้าใจกันได้อย่างลงตัว โดยการสร้างกระบวนการกิจกรรมกับเด็กมาเป็นตัวนำ ที่ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน  เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน


 บริบทชุมชน
ชุมชนบ้านเกาะนางคำ เป็นชุมชนมุสลิม ในตำบลเกาะนางคำ ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ในอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยมีสะพานเกาะหมาก-เกาะนางคำ เป็นตัวเชื่อมระหว่างชุมชนกับเกาะหมากไปจนถึงตัวเมืองปากพะยูน เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นเกาะ มีทะเลสาบล้อมรอบ ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก โดยอาศัยความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง เป็นปัจจัยสำคัญ และบางส่วนประกอบอาชีพทำสวนยาง ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ ฟาร์ม(บ่อ)กุ้ง กระชังปลา ซึ่งเป็นอาชีพที่อยู่คู่ชาวบ้านเกาะนางคำมาอย่างช้านาน นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีอาชีพเสริม ในเวลาว่างเช่นการทำขนมพื้นบ้าน การทำลูกหยีกวน เป็นต้น
โรงเรียนบ้านเกาะนางคำ  เป็นโรงเรียนประถมขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาล ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน เปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ 2471 ในระดับชั้น อนุบาล- มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 189 คน ข้าราชการครู 14 คน ครูอัตราจ้าง 2 คน มีมัสยิดบ้านเกาะนางคำเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพี่น้องมุสลิม และมีภูมิปัญญาด้านการทำประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม) และระบบนิเวศรอบลุ่มทะเลสาบ ที่เป็นต้นทุนทางทรัพยากรในชุมชนได้ใช้ประโยชน์และคงคุณค่าแก่การเรียนรู้และการอนุรักษ์ไว้สืบไป นายสมจิต ชอบงาม  ครูโรงเรียนบ้านเกาะนางคำเหนือ เป็นผู้ริเริ่มโครงการ และนางสาวอารีย์ หลีโส๊ะ ครูโรงเรียนบ้านเกาะนางคำ (เบอร์โทรศัพท์ 082-8242125 อีเมล aree_881@yahoo.com) ได้ร่วมติดต่อประสานกับสมาคมฯ เพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา โดยให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิดสร้างสรรค์ผ่านการทำกิจกรรมที่มีความหลากหลาย  โดยการดึงอาสาสมัครนานาชาติไปดำเนินการในการนำกระบวนการกิจกรรม ทำให้เด็กได้ฝึกกระบวนการฟัง คิด พูด อ่าน เขียน และสามารถแลกเปลี่ยนภาษา และวัฒนธรรมกับอาสาสมัครนานาชาติได้ จึงได้ริเริ่มโครงการค่ายอาสาสมัครระยะสั้นขึ้นในปี 2558 ในช่วงแรกเริ่มของการดำเนินโครงการเพื่อรับอาสาสมัครนานาชาติที่เป็นเจ้าของภาษา ได้เข้ามาช่วยเสริมกระบวนการด้านการสอนให้มีความชัดเจนขึ้น  และเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ระหว่างเด็กในชุมชน และอาสาสมัครนานาชาติ รวมทั้งอาสาสมัครไทย ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ในชุมชนบ้านเกาะนางคำเหนือ และในปี 2561 ช่วงเดือนกันยายน ทาง รร บ้านเกาะนางคำ ได้มีโอกาสเปิดรับอาสาสมัคระยะยาวเป็นครั้งแรก ระยะเวลา 1 เทอม ซึ่งเด็ก ๆ และชุมชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก


วัตถุประสงค์โครงการ
– เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในโรงเรียน/ชุมชน
– เพื่อจุดประกายความคิดและองค์ความรู้การด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนท้องถิ่น
– เพื่อเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น
– เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างอาสาสมัคร เด็กในชุมชน คนในชุมชน / แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม
– เพื่อเปิดพื้นที่แก่เด็กเยาวชนในชุมชนมีความกล้าแสดงออก มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ภาษาเพื่อการสื่อสารกับเจ้าของภาษา


อาหาร
อาหารจะเน้นอาหารท้องถิ่น เนื้อสัตว์ ผัก ปลา ที่หาซื้อได้ง่ายในหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีการประกอบอาชีพประมง อาหารของคนในชุมชน  จึงเป็นอาหารประเภทปลาเป็นส่วนใหญ่ และเป็นอาหารฮาลาล (อาหารที่ปรุงตามหลักการของอิสลาม) อาสาสมัครสามารถช่วยประกอบอาหารร่วมกับผู้ดูแลโครงการ ในระหว่างค่ายจะจัดให้ มี international food day  อาสาแต่ละชาติจะทำอาหารของบ้านตัวเอง


 ที่พัก  ห้องน้ำ
อาสาสมัครจะพักที่บ้านของอาสาในชุมชน ไม่ห่างไกลจากโรงเรียนมากนัก สามารถเดินไปโรงเรียนได้ ตั้งอยู่ในชุมชน มีห้องน้ำ ห้องครัวในตัว และชุมชนบ้านเกาะนางคำ เป็นชุมชนมุสลิม การปรุงอาหารจึงต้องเป็นอาหารฮาลาล ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแต่งการมิดชิด ผู้ชายใส่กางเลยเข่า ผู้หญิงแต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย


ข้อควรทราบ
ในชุมชนมีร้านขายของชำ ที่อาสาสมัครสามารถหาซื้อของที่จำเป็นได้  สำหรับการซื้อของอื่นๆที่ไม่มีขายในชุมชน อาสาสมัครสามารถเข้าไปซื้อของ ติดต่อธนาคาร ใช้อินเตอร์เน็ต หรือติดต่อโรงพยาบาล ในตัวเมืองปากพะยูนได้ ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนบ้านเกาะนางคำประมาณ 10 กิโลเมตร อาสาสมัครสามารถติดต่อประสานงานผู้ดูแลโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกได้


คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม

–       ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
–       มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ
–       รักเด็ก สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
–        ไม่ยึดติดกับวัตถุและค่านิยมเมือง สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้
–       เคารพความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น พร้อมเปิดใจรับและเข้าใจความเป็นชุมชน


 การติดต่อสื่อสาร  สามารถใช้โทรศัพท์ ได้ทุกระบบตามปกติ ไม่มีระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถใช้ได้ผ่านเครือข่ายมือถือ แต้ต้องไม่ใช้เกินความจำเป็น

ภาวิตา ยะสะนพ

Volunteer team in IJGD

ฉันชื่อ น.ส.ภาวิตา ยะสะนพ ชื่อเล่น เบคก้า เป็นอาสาสมัครในโครงการ Weltwärts ประเทศเยอรมันนี เป็นระยะเวลา 12 เดือน ในศูนย์ดูแลคนพิการ โดยองค์กรที่ฉันอยู่นั้นเป็น Day care สำหรับคนพิการที่มีอายุตั้ง 18 ปีขึ้นไป เป็นเหมือนกับสถานที่ที่บุคลเหล่านี้จะได้มาทำงานและใช้ศักยภาพของตัวเองในการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้พิการคนอื่นๆในกลุ่มและในทุกๆวัน จันทร์-ศุกร์ คนพิการเหล่านี้จะมาที่ศูนย์ ในตอนเช้าตั้งแต่เวลา 8.00-15.00 น. เพื่อทำงานร่วมและกิจกรรมร่วมกัน แต่ละกลุ่มจะมีคนพิการจำนวน 8-9 คน และเจ้าหน้าที่ดูแล 3-4 คน สิ่งที่พวกเราทำกันประจำในแต่ละวัน ก็จะเป็นการจัดเตรียมโต๊ะสำหรับมื้ออาหารในตอนเช้า และตอนเที่ยง,กิจกรรมสันทนาการต่างๆ เช่น ร้องเพลง เต้น เล่นเกมส์,งานประดิษฐ์,ทำสวน,ไปซื้อของในซูปเปอร์มาเก็ต ฯลฯ และที่สำคัญคือในแต่ละปี ทุกๆกลุ่มจะมีโปรเจคที่รับผิดชอบและทำร่วมกัน ซึ่งกลุ่มที่ฉันอยู่ทำโครงการเกี่ยวกับประเทศกรีก และกิจกรรมของพวกเราก็จะทำ อาหาร เครื่องดื่ม งานประดิษฐ์ เพลง หรือแม้บริบทโดยรอบเกี่ยวกับประเทศกรีก ซื่งตอนแรกมันไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่พึ่งจบมัธยมปลาย และไม่มีความรู้ใดๆเลยในการดูแลและทำงานร่วมกับคนพิการแบบฉัน ซึ่งแน่นอนว่าคนพิการไม่ใช่คนปกติแบบพวกเราที่สามารถทำอะไรๆเองได้แบบพวกเรา จึงต้องมีการดูแลอย่างเช่น ป้อนข้าว ป้อนน้ำ และการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือทำความสะอาดหลังจากเสร็จธุระ ในฐานะอาสาสมัครงานจริงๆก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่าง แค่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่หลักเวลาที่เค้าต้องการความช่วยเหลือ แต่มันจะยากตรงที่คนพิการแต่ละคนมีความบกพร่องและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งมันต้องใช้เวลาสักระยะนึงในการเรียนรู้ และด้วยปัจจัยอื่นๆอีก เช่น การต้องมาอยู่ด้วยตัวเองในที่ที่ห่างไกลจากบ้าน และครอบครัว ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อม ยอมรับเลยว่ามันค่อนข้างหนักในช่วงแรกๆ บางครั้งฉันรู้สึกเหนื่อยกับการที่ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอด รู้สึกหมดกำลังใจ หรือไม่แรงผลักดัน ฉันก็มักจะมีคำถามกับตัวเองว่า ฉันมาที่นี่เพื่ออะไร? ฉันต้องการอะไรจากที่นี่? และไม่ว่าจะคิดในมุมไหนมันก็จะออกมาเป็นคำตอบเดียวกันหมด นั่นก็คือ “การเก็บเกี่บวประสบการณ์” ฉันได้เรียนรู้มากมายหลายสิ่งใน 1 ปี ไม่ใช่แค่ในด้านการเป็นอาสาสมัครหรือทักษะการทำงานแค่อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการท้าทายตัวเองในสิ่งใหม่ๆ, การเอาชนะความกลัวและกล้าที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าในชีวิตนี้จะโอกาสได้ทำ, การเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เพราะการทำงานกับบุคคลเหล่านี้สิ่งสำคัญคือการเปิดใจให้กว้างที่สุด, การทำงานร่วมกับคนอื่นๆในสังคมที่มีความแตกต่างและความหลากหลาย, การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง, การเอาชนะและก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆด้วยตัวเอง เพราะ 1 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่ามีอุปสรรคและเรื่องราวต่างๆที่ทำให้ฉันท้อและยากที่ผ่านมันไปได้ และฉันได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเวลาที่มีอุปสรรคต่างๆเข้ามานั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรักตัวเองให้มากๆ กอดตัวเองให้แน่นๆ แล้วทุกอย่างมันจะผ่านไป มันอาจจะไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ มันจะเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจที่สุดสำหรับตัวเราเอง สุดท้ายฉันต้องขอบคุณครอบครัวของฉันที่คอยให้กำลังใจ สนับสนุน และคอยอยู่ข้างๆกันตลอดไม่ว่าฉะนจะตัดสินใจทำอะไร ขอบคุณดาหลา ที่สนับสนุนเปิดโอกาสให้ฉันได้มาเรียนรู้ หาประสบการณ์และเปิดโลกกว้างไกลถึงถึงประเทศเยอรมันนี

ชื่อโครงการ  เกษตรอย่างยั่งยืน

(ทำสวน ปลูกพัก และ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม อาหาร นานาชาติ)

ค่ายบ้านโคกเหรียง  อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา

ระยะเวลาโครงการ ตลอดทั้งปี

ประวัติโครงการ

ดาหลาเริ่มกิจกรรมกับบ้านโคกเหรียงตั้งแต่เดือนภุมภาพันธ์ 2556 เปิดเป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่อง รับอาสาสมัครตลอดทั้งปี โดยมีกิจกรรมหลักคือ ทำเกษตร มีเจ้าของโครงการชื่อลุงแจงที่อยากทำเกษตรแบบปลูกเพื่อกิน ลุงแจงมีความคิดเกี่ยวกับการกินอาหารที่ปลอดภัย จะทำให้สุขภาพดี เพราะลุงแจงมีโรคประจำตัว(โรคหัวใจ) เลยต้องดูแลเรื่องการกินเป็นพิเศษ

ดาหลารู้จักลุงแจงได้อย่างไร เมื่อปี 2549 ดาหลาได้ร่วมงานกับชมรมคนแบกเป้มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เพ่อดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ จากนั้นดาหลา ชมรมคนแบกเป้และลุงแจงก็ได้ร่วมกิจกรรมด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั้งเมื่อปี 2556 ลุงแจงได้ลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำสวน ลุงแจงและเพื่อนมีความคิดอยากปลูกผักกินกเอง ปลูกแบบผสมผสานทุกอย่างในพื้นที่สวน 8 ไร่  ซึ่งในอนาคต ลุงแจงคาดหวังอยากให้พื้นที่บ้านลุงแจงเป็นพื้นที่ให้ชาวบ้าน รวมถึงคนจากชุมชนข้างนอกสามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วยกันได้ ดาหลาจึงสนับสนุนความคิดของลุงแจง ด้วยการเสนอให้มีอาสาสมัครนานาชาติในพื้นที่ ไว้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องการเกษตรต่อไป เมื่อโครงการได้เริ่มขึ้น ดาหลาได้ส่งอาสาสมัครระยะยาวอย่างต่อเนื่อง และได้จัดกิจกรรมค่าระยะสั้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์บ้างในบางเดือน เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนที่อยากทำทำสวน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเกษตร บางเวลาก็มีกลุ่มเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆมาร่วมกิจกรรมด้วย เช่น กลุ่มยิ้มจากยะลา กลุ่มเยาวชนโรงเรียนคลองโต๊ะเหล็ม จังหวัดสตูล เป็นต้น

กิจกรรมที่จะทำ

– ทำเกษตรเช่น ปลูกผัก เลี้ยงปลา รดน้ำพืชผัก ผลไม้ ในสวน เวลาทำงานแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าเวลาประมาณ 7-10 โมง และช่วงเย็น16.00-18.00 น.

–  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรม วัฒนธรรม อาหาร กับเพื่อนอาสาสมัครนานาชาติ

บริบทชุมชน

บ้านโคกเหรียงตั้งอยู่ที่ ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา  อยู่ห่างจากสนามบินหาดใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำสวนยางพารา แต่ก็มีบางส่วนที่เดินทางออกมาทำงานในตัวเมืองหาดใหญ่ เนื่องจากบ้านโคกเหรียงเป็นชุมชนใกล้เมือง ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจในเรื่องการเพาะปลุกผักกินเอง ทั้งๆที่พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เน้นการซื้อจากท้องตลาดเป็นหลัก เช่นเดียวกันท้องทุ่งนาก็ได้ปล่อยว่างไม่มีการทำนา มีเพียงบางครอบครัวเท่านั้นที่ยังคงทำอยู่ มีร้านค้าชุมชนเป็นจำนวนมาก ไม่มีตู้ ATM กดเงินสด

อาหาร

รับประทานอาหารทุกประเภท แต่ลุงแจงเจ้าของโครงการจะทำอาหารเพื่อสุขภาพเป็นหลัก เพราะลุงแจงจะให้ความสำคัญเรื่องกินมากที่สุด การทำอาหารลุงแจงจะเป็นคนทำเป็นหลัก อาสาสมัครจะต้องช่วยลุงแจงในการเตรียมอาหารและบางครั้งจะต้องทำอาหารเองบ้าง มีครัวสำหรับที่ทำอาหารเพียบพร้อม อาหารที่บ้านลุงแจง ไม่มีการใส่ผงชูรส รสดี หรือส่วนผสมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และลุงแจงเน้นเรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบของของบ้าน

ที่พัก

อาสาสมัครพักที่บ้านของลุงแจง ตอนนี้มีห้องพักสำหรับอาสาสมัคร 3 ห้อง ห้องละ 2 คน แยกนอนชายหญิง เว้นแต่กรณีที่แต่งงานแล้วสามารถอยู่ด้วยกันได้ หรือถ้ามีค่ายระยะสั้นเกิดขึ้น จำนวนอาสาสมัครหลายคน ก็จะนอนในบริเวณพื้นของบ้าน มีมุ้ง และเต้นท์ ไว้สำรอง พื้นบ้านเป็นโล่งโถ่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ซักผ้า
ซักผ้ากับเครื่อง แต่ห้ามซักชุดชั้นใน กางกางใน  ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เตรียมมาเอง

ห้องน้ำ

มีห้องน้ำสำหรับอาสาสมัคร 2 ห้อง สามารถใช้ส้วมและอาบน้ำในห้องเดียวกัน
คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม

–  ชอบทำเกษตร และชีวิตแบบเรียบง่าย  ทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนได้

–  ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

–  มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ

จำนวนอาสาสมัครระยะยาวที่เปิดรับสมัคร

–   อาสานานาชาติ 5 คน

–   อาสาสมัครไทย  2 -3 คน

การติดต่อสื่อสาร

สัญญาณโทรศัพท์ใช้ได้ทุกระบบ มีอินเตอร์เน็ต สามารถใช้ WIFI ได้ แต่ต้องไม่ใช้ในเวลาที่ทำงาน สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้เมื่อเป็นเวลาพักผ่อนเท่านั้น

การเดินทาง

–  จากกรุงเทพ สามารถเดินทางโดยรถไฟ มาลงที่สถานีหาดใหญ่  หลังจากนั้นต่อรถสองแถวสีฟ้าหรือสีขาว ที่เขียนว่าสนามบิน หรือตลาดเกษตรแต่ต้องเดินออกมาจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ มาขึ้นรถสองแถวที่หน้าตลาดกิมหยง (สามารถถามแม่ค้าระหว่างทางได้) ใช้เวลาในการเดินไปตลาดกิมหยงประมาณ 10 นาที และใช้เวลาในการนั้งรถสองแถวประมาณ 20 นาที ค่าโดยสารประมาณ 10 บาทตลอดสาย เมื่อถึงที่ศูนย์โตโยต้าหาดใหญ่ในให้เตรียมตัวกดกริ่งลงหน้าหมู่บ้านรติมา เดินเข้าซอยเพชรเกษม 43 (จุดสังเกต ป้ายสีเขียนเขียนว่า พอตารีสอร์ท) เดินเข้าซอยประมาณ 5 นาที สำนักงานดาหลาอยู่กลางซอย มีป้ายดาหลาติดอยู่ในบ้านสามารถเห็นได้ชัด บ้านเลขที่ 86

–   รถบัส กรุงเทพ หาดใหญ่ หลังจากนั้นต่อรถสองแถวสีฟ้าหรือสีขาว ที่เขียนว่าสนามบินขนส่ง หรือตลาดเกษตรแต่ต้องเดินออกมาจากสถานี บขส.หาดใหญ่ มาขึ้นรถสองแถวที่หน้าเซเว่นอีเลเว่น (สามารถถามแม่ค้าทางได้) ใช้เวลาในการนั้งรถสองแถวประมาณ 35 นาที ค่าโดยสารประมาณ 10 บาทตลอดสาย เมื่อถึงที่ศูนย์โตโยต้าหาดใหญ่ในให้เตรียมตัวกดกริ่งลงหน้าหมู่บ้านรติมา เดินเข้าซอยเพชรเกษม 43 (จุดสังเกต ป้ายสีเขียนเขียนว่า พอตารีสอร์ท) เดินเข้าซอยประมาณ 5 นาที สำนักงานดาหลาอยู่กลางซอย มีป้ายดาหลาติดอยู่ในบ้านสามารถเห็นได้ชัด บ้านเลขที่ 86

–  เครื่องบินจากกรุงเทพ ลงสนามบินหาดใหญ่ หลังจากนั้นต่อรถสองแถวสีฟ้า ที่เขียนว่าขนส่ง สนามบิน หรือตลาดเกษตรแต่ต้องเดินออกมาจากสนามบินหาดใหญ่ มาขึ้นรถสองแถวที่หน้าถนนทางออก (สามารถถามผ่านประชาสัมพันธ์ได้) ใช้เวลาในการนั้งรถสองแถวประมาณ 20 นาที ค่าโดยสารประมาณ 20 บาทตลอดสาย เมื่อถึงที่ราชาเฟอร์นิเจอร์ให้เตรียมตัวกดกริ่งเดินข้ามถนนมาอีกฝั่ง สังเกตชื่อหมู่บ้านรติมา เดินเข้าซอยเพชรเกษม 43 (จุดสังเกต ป้ายสีเขียนเขียนว่า พอตารีสอร์ท) เดินเข้าซอยประมาณ 5 นาที สำนักงานดาหลาอยู่กลางซอย มีป้ายดาหลาติดอยู่ในบ้านสามารถเห็นได้ชัด บ้านเลขที่ 86
เงื่อนไขการร่วมโครงการ

1.ต้องเสียค่าบำรุงสมาคมเดือนละ 3,500 บาทซึ่งจะนำมาเป็นค่าอาหารสำหรับผู้เข้าร่วม ค่าที่พัก ค่ากิจกรรมต่างๆ ของสมาคม

2.ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ

3.ผู้เข้าร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยของตนเอง

4.ผู้เข้าร่วมต้องร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 1 เดือน

5.ของส่วนตัวผู้เข้าร่วมต้องเตรียมเอง (ยาสระผม ผงซักฟอก แป้ง สบู่ )

สิ่งที่ต้องเตรียมมาร่วมค่าย

1.ถุงนอน หรือผ้าห่ม

2.เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ 2 สัปดาห์ (ผู้หญิงเสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้นไม่อนุญาตใส่ระหว่างค่าย)

3.เสื้อผ้าสำหรับใส่ทำงาน สามารถสกปรกได้ และไม่เสียดายทีหลังค่ะ

4.อุปกรณ์กันแดด หมวก ครีมกันแดด

5.ถุงมือ และรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหุ้มส้น สำหรับทำงาน

6.รูปถ่าย หรืออาหารท้องถิ่นของตนเอง (สำหรับมาแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมค่ายคนอื่น ๆ)

7.สเปรย์กันยุง (กรุณาเลือกอันที่เป็นมิตรกับสิงแวดล้อม)

8.ไฟฉาย (เลือกแบบที่สว่างมาก ๆ และควรเป็นแบบชาร์จแบตเตอรี่ )

9.ความคิดสร้างสรรค์ เกมส์ เพลง เพื่อความบันเทิงในค่าย

10.ความคิดด้านบวก มองโลกในแง่ดี และรอยยิ้มที่สดใส

11.เมล็ดพันธ์ผัก (ถ้ามี)

สิ่งที่ห้ามนำมาในค่าย

1.สารเสพติด

2.แอลกอฮอล์

3.อคติ หรือความคิดด้านลบ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา)

86 เพชรเกษม 43 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  90110

www.dalaa-thailand.com

Email: dalaa.thailand@gmail.com

Tel. 074 266 286

ชื่อโครงการค่ายระยะยาวบ้านโคกพยอม อำเภอละงู จังหวัดสตูล (ระยะเวลาที่อาสาเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2552- ปัจจุบัน)

ประวัติชุมชน

บ้านโคกพยอม หมู่ 18 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นชุมชนมุสลิม  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง สวนยาง และทำนา มีลำคลองติหงีเป็นลำคลองสายหลักที่ไหลผ่านชุมชน ก่อนไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ทิศตะวันตกเป็นทุ่งนาและสลับกับสวนยางเป็นหย่อมๆที่ผสมผสานความหลากหลายได้อย่างลงตัว ในทุกๆปีก็จะมีการทำนาปลูกข้าวทำให้ชุมชนที่นี่ไม่ต้องซื้อข้าวสารจากข้างนอก  นอกจากอาชีพหลักที่ชาวบ้านทำแล้วยังมีกลุ่มสตรีที่ทำขนมพื้นบ้าน เพาะเห็ดนางฟ้า กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ และกลุ่มเลี้ยงปลา. ในปี 2552 สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา) ได้ร่วมมือกับทางชุมชนบ้านโคกพยอม ริเริ่มงานค่ายอาสาสมัครนานาชาติขึ้นในชุมชน โดยร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆขึ้นเพื่อร่วมกันเปิดโอกาสให้เยาวชนในท้องถิ่นและอาสาสมัครจากที่อื่นๆได้ร่วมกัยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการปฎิบัติงานตามโครงการต่างๆร่วมกัน เช่น โครงการด้ารการศึกษาทางเลือก ภาษาอังกฤษ ศิลปะ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นการร่วมกันปลูกพันธุ์ไม้ทดแทนในเขตป่าชายเลน การคัดแยกขยะในชุมชน การทำบ่อเลี้ยงปูธรรมชาติไปจนถึงการริเริ่มก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน โรงเรียนคลองโต๊ะเหล็ม เพื่อให้เด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ อาสาสมัครนานาชาติ รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปได้มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ภูมิปัญญา วิถีการดำรงชีวิตอย่างรู้คุณค่าทรัพยากรธรรมชาติและสัิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นศูนย์กลางเพื่อการรวบรวมข้อมูลข่าวสารความรู้ของชุมชนที่จะนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการเรียรู้ของชุมชน เป็นแหล่งเสริมสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรม เอกลักษณ์ของชุมชน และการบริการชุมชนในด้านต่างๆ

อาหาร

อาสาสมัครสามารถประกอบอาหารได้ด้วยตนเอง ในบริเวณที่พักเรามีห้องครัวสำหรับปรุงอาหาร และในชุมชนมีพื้นที่สำหรับการทำแปลงเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด ไก่ และมีบ่อปลาที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ที่อาสาสมัครสามารถนำมาประกอบอาหารได้ มีร้านค้าในชุมชนที่อาสาสมัครสามารถหาซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารตามที่ต้องการได้

ที่พัก

ศุนย์โคกพยอม มีอาคารที่พักสำหรับอาสาสมัครจำนวน 3 ห้อง และศาลาสำหรับกางเต้นท์ ที่สามารถรองรับอาสมัครได้

คุณสมบัติของอาสาที่จะเข้าร่วม

–  รักธรรมชาติ และชีวิตแบบเรียบง่าย ห่างไกลเมือง

–  ใจกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ โดยเฉพาะอาสาสมัครไทยที่สนใจอยากเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ

–   มีความคิดสร้างสรรค์ และสนใจกิจกรรมต่างๆ

–   รักการทำกิจกรรมกับเด็ก สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมไทย (กรณีอาสาต่างชาติ) และสามารถรับวัฒนธรรมต่างชาติได้ (กรณีอาสาไทย)

–   สนใจประเด็นด้านการศึกษาทางเลือก และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน ชาวบ้านและอาสาสมัครนานาชาติได้

ลักษณะกิจกรรมที่อาสานานาชาติเข้าร่วม

– กิจกรรมสอนภาษาแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านโคกพยอม และโรงเรียนบ้านท่าชะมวง โรงเรียนบ้านบากันโต๊ะทิด รวมถึงสอนภาษาอังกฤษแก่คนในชุมชน

– ร่วมกิจกรรมกับศูนย์เรียนรู้ชุมชนโรงเรียงคลองโต๊ะเหล็ม ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ชุมชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อถ่ายถอดภูมิปัญญาชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ป่าชายเลน รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

– กิจกรรมชุมชน เช่น ทำนา ทำปุ๋ยหมัก ทำสวน สร้างศูนย์เรียนรู้ ธนาคารขยะ เลี้ยงเป็ดไก่ เป็นต้น

จำนวนอาสาสมัคร

อาสาสมัครนานาชาติ  6 คน

อาสาสมัครไทย 1-2 คน